ประวัติ ของ การให้วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย

เอกสารระบุการฉีดวัควีนโควิด-19 เข็มที่หนึ่งของแอสตราเซเนกา

ช่วงนำเข้าวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกา รอวัคซีนผลิตในประเทศ

ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ทางการสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งจากข้อมูลการทดลองพบมีประสิทธิผลโดยรวมร้อยละ 70[6] เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวต้องใช้ฉีดคนละ 2 โดส ทำให้เพียงพอต่อประชากรเพียง 13 ล้านคน[7] ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติงบสั่งซื้อเพิ่ม 35 ล้านโดสในเดือนมกราคม 2564[8] ทั้งนี้ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธยได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "เมื่อรับวัคซีนมาแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอันนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนส์"[9] นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าวัคซีนจากบริษัทซีโนแว็ก สัญชาติจีน จำนวน 2 ล้านโดส ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2564[10] ซึ่งบริษัทซีโนแว็กเป็นบริษัทที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าร่วมทุนด้วยจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถือหุ้น 15%[11] ในเดือนมกราคม 2564 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกรัฐบาลแจ้งความฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ หลังตั้งคำถามถึงบริษัทผลิตวัคซีนที่พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของ[12] หลายวันต่อมา อนุทิน ชาญวีรกุล โพสต์ตอบคำถามของธนาธร โดยตอนหนึ่งระบุว่า จำนวนและกรอบเวลาการสั่งซื้อวัคซีนนั้นเป็นไปตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ[13] อนุทินยังเปรียบเทียบว่าวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามานั้นเปรียบได้กับการ "แทงม้าเต็ง"[14] ในเดือนเดียวกัน ยังมีการชูป้ายประท้วงในพื้นที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ซึ่งมีใจความว่า วัคซีนโควิด-19 เป็นการหาความชอบให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์[15][16] ทางการมีกำหนดเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกเริ่มจากบุคลากรการแพทย์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์[17] ในเดือนกุมภาพันธ์ มีการเปิดเผยว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ได้รับวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์[18] วัคซีนจากบริษัทซิโนแว็กและแอสตราเซเนกาถึงไทยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์[19]

กระทรวงสาธารณสุขเปิดแผนกระจายวัคซีนล็อต 2 จำนวน 8 แสนโดส โดยแบ่งเป็นกลุ่มพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ท่องเที่ยว[20] และหลังได้รับวัคซีนจากแอสตราเซเนกาเพิ่มอีก 5 ล้านโดสในเดือนพฤษภาคม 2564 จะเปิดให้จองวัคซีนผ่านออนไลน์และแอปพลิเคชันหมอพร้อม[21] ช่วงกลางเดือนมีนาคม มีข่าวว่า กองทัพบกจะให้แคดดี้สนามกอล์ฟฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากมีผู้ใหญ่เกษียณไปใช้บริการ[22] ปลายเดือนมีนาคม 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยผลสำรวจซีอีโอ 191 ราย พบว่า ร้อยละ 79.8 กังวลเรื่องการกระจายวัคซีนล่าช้า[23] ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่งระบุว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่เอกชนยังนำเข้าวัคซีนไม่ได้เนื่องจากบริษัทวัคซีนต้องการขายให้กับรัฐบาลเท่านั้นเพื่อเลี่ยงปัญหาการฟ้องร้องจากปัญหาไม่พึงประสงค์จากวัคซีน[24] วันที่ 25 มีนาคม 2564 วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นรายที่สาม[25] ต่อมา แพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า วัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกานั้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เพียงแต่ป้องกันการป่วยตามสรรพคุณ[26] วันที่ 10 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อพิจารณาวัคซีนทางเลือก ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากโรงพยาบาลเอกชนด้วย[27] วันที่ 13 พฤษภาคม อย. ประกาศขึ้นทะเบียนวัคซีนโมเดอร์นา[28] วันที่ 14 พฤษภาคม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเปิดเผยผลการศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ผู้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาและโคโรนาแว็คครบ 2 เข็ม หลังผ่านไป 4 สัปดาห์ มีภูมิคุ้มกันในระดับสูงร้อยละ 97.26 และ 99.4 ตามลำดับ[29] วันที่ 26 พฤษภาคม มีข่าวว่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาลส่วนหนึ่งวิ่งเต้นเพื่อให้ท้องถิ่นของตนได้รับจัดสรรวัคซีนมากที่สุด จนทำให้บางจังหวัดได้รับจัดสรรวัคซีนมากกว่าพื้นที่ระบาด[30] ในวันเดียวกัน ศบค. ประกาศชะลอการลงทะเบียนจองวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม เนื่องจากจะมีการจัดสรรวัคซีนใหม่โดยเปลี่ยนจากโควต้าจองมาเป็นการจัดสรรให้กับพื้นที่ระบาดก่อน ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่ามียอดผู้จองวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวแล้ว 7.9 ล้านราย[31] นอกจากนี้ ยังมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาว่า สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มีอำนาจนำเข้ายาและวัคซีนเพื่อใช้รักษาโควิด-19 ได้[32] อีกทั้งไม่ต้องรับผิดทางคดีทั้งปวง[33] ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีรายงานว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาจากประเทศอิตาลีจำนวน 50,000 โดสมาไม่ถึงมือทางการไทยตามกำหนด และเกิดความสับสนในช่วงเดือนพฤษภาคมว่า วัคซีนแอสตราเซนกามีเพียงพอกับยอดสั่งจองหรือไม่[34] วันที่ 28 พฤษภาคม อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม[35] ข้อมูลในวันเดียวกันพบว่า ไทยมีวัคซีนซิโนแวค 6 ล้านโดส และแอสตราเซเนกา 117,000 โดส และกำลังนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมในเดือนมิถุนายน ขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศจะทยอยส่งมอบจนครบ 61 ล้านโดส[36]

สส. พรรคก้าวไกลวิจารณ์การวางแผนวัคซีนของรัฐบาลว่า ทำให้ต้องจ่ายค่าตรวจหาเชื้อ ค่ายาต้านไวรัสและค่านอนโรงพยาบาลที่แพงกว่าวัคซีนมาก นอกจากนี้แทนที่จะยอมจัดสรรงบซื้อวัคซีนเพียงไม่ถึง 1 แสนล้านบาท แต่กลับต้องใช้งบเพื่อเยียวยาถึง 7 แสนล้านบาท[37]

โครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ และการอนุญาตให้นำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่น

ผู้เข้าฉีดวัคซีนนั่งคอยที่จุดบริการวัคซีนโควิด-19 จุดหนึ่งที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในกรุงเทพมหานคร
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

ระหว่างวันที่ 7–19 มิถุนายน 2564 มีการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 (ซิโนแวคและแอสตราเซเนกา) จำนวน 3.5 ล้านโดสใน 13 เขตสุขภาพ[38] มีจุดฉีด 986 จุดทั่วประเทศ[39] วันที่ 7 มิถุนายน 2564 นายกรัฐมนตรีลงนามนำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 25 ล้านโดสและซิโนแวค 8 ล้านโดส[40] สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเปิดเผยราคาวัคซีนโมเดอร์นา 2 เข็มอยู่ที่ 3,800 บาท และจะสั่งซื้อ 10 ล้านโดส[41] วันที่ 8 มิถุนายน ศบค. ออกคำสั่งอนุญาตให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนซื้อวัคซีนได้[42] วันที่ 9 มิถุนายน มีข่าวว่ามีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ลัดคิวฉีดวัคซีน[43] ก่อนต่อมามีการเปิดเผยว่าเป็นคนในครอบครัวของวินมอเตอร์ไซค์ที่เอาเสื้อไปใส่[44] วันที่ 13 มิถุนายน มีข่าวว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพสต์ประกาศในสื่อสังคมว่าโรงพยาบาลของตนได้รับจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอ และให้ประชาชนไปสอบถามกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต่อมาโพสต์ดังกล่าวถูกลบ[45] วันที่ 17 มิถุนายน มีคำสั่งปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจัดหาวัคซีนให้พนักงานไทยเบฟเวอเรจและครอบครัว 7.1 หมื่นคนทั่วประเทศ[46] วัคซีนซิโนฟาร์มลอตแรกมาถึงในวันที่ 20 มิถุนายน 2564[47] มีแพทย์และองค์การแพทย์ออกมาเรียกร้องให้นำเข้าวัคซีนทางเลือกและเลิกนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม[48][49]

แหล่งที่มา

WikiPedia: การให้วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย //www.worldcat.org/issn/0362-4331 https://coconuts.co/bangkok/news/iconsiam-guard-ac... https://covid-19.researcherth.co/vaccination https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/915653 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/929077 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/930452 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/940295 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/940402 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/942502 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945040